Comfort Zone คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญต่อการพัฒนาตัวเอง [ฉบับลงลึก]
Comfort zone ใช่ว่าอยากออกก็ออกได้เลย เรียนรู้การออกจาก comfort zone อย่างมีแบบแผน และเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว comfort zone คืออะไร
get-out-of-comfort-zone-guide-featured-image

Comfort zone (คอมฟอร์ทโซน) เข้าใจพื้นที่ปลอดภัยกับการพัฒนาตัวเอง

ชีวิตสุดแสนสบาย ไร้ความกังวล ปล่อยตัวเองอยู่ทำงานที่เป็นเหมือนกับ comfort zone ที่ก็ไม่ได้ดีแต่ก็ไม่ได้แย่ ชีวิตแบบนี้จะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหนกันนะ?

ผมคิดว่าหลายๆ คนน่าจะได้เห็นกันบ่อยๆ เรื่องการพาตัวเองออกจาก comfort zone เวลาอ่านบทความต่างๆ ด้านการพัฒนาตัวเอง แต่อาจจะไม่ได้เจอบทความที่ลงลึกในรายละเอียดว่าจริงๆ แล้ว การออกจากคอมฟอร์ทโซนนั้นเป็นยังไง 

การออกจาก comfort zone ของตัวเองเป็นสิ่งที่ต้องใช้แรงบันดาลใจอย่างมาก และการออกจาก comfort zone ของแต่ละคนก็ไม่สามารถที่จะอ้างอิงจากประสบการณ์คนอื่นได้ทั้งหมด เราจึงต้องมีหลักการและแผนในการออกจาก comfort zone อย่างมีประสิทธิภาพ  

เพราะการออกจาก comfort zone นั้นใช่ว่ามีแรงใจก็ออกไปได้เลย เพราะจริงๆ แล้วการออกจาก comfort zone อาจส่งผลเสียได้ ถ้าไม่เข้าใจในขั้นตอนและพื้นฐานความเข้าใจด้าน mindset ที่ดี ที่ต้องปูพื้นฐานให้แข็งแรงก่อนจะออกจากคอมฟอร์ทโซน

ดังนั้น ผมเลยอยากจะมาแชร์ว่าการออกจาก comfort zone นั้นต้องรู้อะไรบ้าง และอยากจะแชร์ประสบการณ์การออกจาก comfort zone ของตัวเอง เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับใครหลายๆ คนที่กำลังสนใจการพัฒนาตัวเองอย่างจริงจังครับ

cropped-Untitled-Artwork.png

Comfort Zone คืออะไร?

Comfort zone คือ สภาวะที่เรารู้สึกว่าสบายกายสบายใจกับสิ่งเดิมๆ ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากไม่ได้ออกไปเจอสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายตัวเอง แต่เน้นการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตนเองคุ้นเคยและควบคุมได้

ความหมายของคอมฟอร์ทโซนที่ว่ามาก็ไม่เห็นว่ามันจะไม่ดีตรงไหนเลยนี่หน่า เพราะจริงๆ แล้วใครมันจะอยากไปเจออะไรที่ไม่แน่นอนให้ตัวเองเครียดเปล่าๆ ละ?

แต่จริงๆ แล้วการอยู่ใน Comfort zone มากเกินไปนั้นมีผลเสียกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการพัฒนาตัวเอง เพราะการไม่ออกจาก Comfort zone นั้นทำให้เราพลาดโอกาสมากมายหลากอย่างจริงๆ

ในชีวิตคนทำงาน หลายๆ ครั้งเราเชื่อว่าเรามีความรู้ความสามารถที่จะก้าวหน้าไปได้ไกลกว่านี้ แต่เพราะว่าการอยู่ในงานปัจจุบันเป็นสิ่งที่เหมือนกับ Comfort zone ไปแล้ว ทำให้เรากลัวที่จะทำในสิ่งที่ท้าทายและเหมาะสมกับความสามารถเราจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากๆ ครับ

ทำไมการออกจาก Comfort Zone (คอมฟอร์ทโซน) จึงเป็นเรื่องยาก?

ผมว่าเรารู้สึกกันแทบทุกคนว่าการออกจาก comfort zone นั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผมเชื่อว่าเราอาจจะยังไม่เคยมานั่งหาสาเหตุกันจริงๆ ว่าทำไม การออกจาก comfort zone ตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน ผมคิดว่ามีประมาณ 3 สาเหตุที่ทำให้การออกจาก comfort zone ของแต่ละคนเป็นเรื่องที่ท้าทาย

why getting out of your comfort zone is hard

กลัวความไม่แน่นอน

ภายใต้ comfort zone ของเรานั้น แทบทุกอย่างนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา และถึงแม้บางอย่างจะไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา เราก็พอจะเดาได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า ถ้าพาตัวเองออกจาก comfort zone เมื่อไหร่ละก็ สิ่งเหล่านี้อาจจะหายไปก็ได้

การออกจาก comfort zone นั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับพวกเราหลายๆ คน รวมถึงผมเองด้วย และมีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าคนเราจะมองความไม่แน่นอนเท่ากับภัยอันตรายต่อชีวิตตัวเอง ซึ่งความกลัวเหล่านี้ทำให้เราไม่กล้าออกจาก comfort zone และไม่ได้ออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันเสียที

ยังมีกรอบแนวคิดแบบ Fixed Mindset 

บางครั้งเราก็เอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น และอาจจะใจร้ายกับตัวเองมากเกินไปโดยการไม่เชื่อในความสามารถของตัวเอง บอกกับตัวเองว่า “เราทำไม่ได้หรอก เราไม่มีความสามารถมากพอ” ซึ่งวิธีคิดแบบนี้คือการคิดแบบ Fixed Mindset ครับ

แต่ต้องบอกก่อนว่า เราทุกคนมีทั้ง Growth Mindset และ Fixed Mindset ในตัวครับ และในบางเรื่องก็มีสัดส่วนความเป็น Growth Mindset มากกว่า Fixed Mindset ด้วยครับ ซึ่งเจ้าตัว Fixed Mindset นี่เองที่เป็นตัวฉุดรั้งเราไม่ให้ก้าวออกจาก comfort zone ได้ครับ

หนังสือ Mindset อธิบายไว้ครบเรื่อง Growth Mindset

ถ้าสนใจเรื่อง Growth Mindset กับ Fixed Mindset ผมแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมจากเล่มนี้เลยครับ อธิบายให้ละเอียดเลย

เสพติดพฤติกรรมเดิมๆ

แรงบันดาลใจอย่างเดียวใช่ว่าจะช่วยให้เราออกจาก comfort zone ได้สำเร็จ เพราะหลายๆ ครั้งเราก็ยังติดอยู่กับพฤติกรรมเดิมๆ ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเปลี่ยนได้ 

ถ้ายกตัวอย่างว่าเราอยากจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยการไปออกกำลังกายละก็ เราจำเป็นที่จะต้องปรับพฤติกรรมการกิน ออกไปวิ่งตอนเช้า และนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งอาจขัดกับพฤติกรรมเดิมๆ ของเราที่กินข้าวไม่ตรงเวลา ตื่นสาย และนอนตี 3 ตื่น 6 โมงเย็นนั่นเอง

ความจริงเกี่ยวกับ Comfort Zone (คอมฟอร์ทโซน) และการพัฒนาตัวเอง

การอยู่ใน comfort zone นานเกินไปมีผลเสียมากเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เรามักจะเห็นหลายๆ คนแนะนำให้เราดึงตัวเองออกจากคอมฟอร์ทโซน และทำตามสิ่งที่เราต้องทำเพื่อพัฒนาตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว ยังมีผลกระทบบางอย่างที่ทำให้การออกจาก comfort zone นั้นต้องคิดให้ดีก่อนจะเริ่มต้น

ออกมาไกลจาก Comfort Zone มากไป ส่งผลเสียมากกว่าที่คิด

ผมเองก็เป็นคนนึงที่พยายามพัฒนาตัวเองด้วยการพาตัวเองออกจาก comfort zone และได้เจอกับผลกระทบจากการออกจากคอมฟอร์ทโซนไกลเกินไป และไม่มีแบบแผนอย่างจริงจัง

ผมทำงานอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่แห่งนึงในตำแหน่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และผมก็รู้สึกว่าผมมีความสามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่านี้ ผมเลยตัดสินใจลาออกไปเจอของโหดๆ อย่างการสมัครงานในบริษัท Startup แห่งนึง ซึ่งทำให้ผมได้เข้าใจฤทธิเดชอันร้ายแรงของการออกจาก comfort zone ชนิดเข้มข้นเลยก็ว่าได้ครับ

ผมทำงานเรียกได้ว่า 8 โมงเช้าของวันนี้จนถึง 8 โมงเช้าของอีกวัน ยิ่งไปกว่านั้น ผมรู้สึกเสียความมั่นใจขั้นสุดเมื่อผมได้รู้ว่าทักษะของผมมันต่ำเตี้ยเลี่ยดินแค่ไหนเมื่อเทียบกับพนักงานคนอื่นๆ ในบริษัท งานที่พนักงานระดับเทพๆ มองว่าง่าย ผมทำไม่ได้สักอย่างเลยครับ อยู่ได้ไม่นานผมก็ตัดสินใจลาออกมาจากที่นั่นครับ

ย้อนนึกกลับไป ผมเองก็คิดในใจหรือว่าผมไม่มี Growth Mindset ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญในการออกจาก comfort zone รึเปล่านะ เราไม่เชื่อมั่นในความสามารถตัวเอง เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และก็ยอมแพ้มันไปง่ายๆ รึเปล่านะ? หรือในใจเรานั้นเต็มไปด้วย Fixed Mindset รึเปล่า?

ผมมาเขาใจทีหลังว่า จริงๆ แล้ว ผมออกมาไกลจาก comfort zone ของผมเกินไปต่างหาก ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ ผมได้เรียนรู้ว่า เรามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Growth Mindset ที่ว่าเราต้องพยายามทุกอย่างเพื่อชนะอุปสรรค แต่แท้จริงแล้วการยอมแพ้ในบางเรื่องก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าทำงานแบบมุทะลุเป็นไหนๆ

การมี Comfort Zone ให้กลับไป ช่วยเยียวจิตใจได้เหมือนกัน

ระหว่างที่ผมทำงานใน Startup นั้น ผมก็เรียนปริญญาโทด้าน Digital Marketing ไปด้วย ซึ่งผมก็ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษ แต่คิดว่าเป็นทักษะที่เป็นต้องการของตลาดครับ พอถึงคราวหางานรอบนี้ ผมไม่ได้ตัดสินใจออกจาก comfort zone ระดับมุทะลุอย่างที่ผมเคยทำสมัยก่อนครับ ผมไปในที่ทำงานที่ผมคิดว่างานไม่หนักมาก ค่อยๆ พัฒนาตัวเอง ถ้าไม่ไหวก็กลับเข้าคอมฟอร์ทโซนของตัวเองบ้าง แต่ถ้าไหวอีกครั้งก็ลุกมาสู้กับมันต่อ เหมือนกับการขยาย comfort zone ตัวเองเรื่อยๆ นั่นเอง

ออกจาก Comfort Zone (คอมฟอร์ทโซน) อย่างมีแบบแผนด้วย The Learning Zone Model และ Growth Zone

เรื่องราวของผมน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการออกจาก comfort zone ไกลเกินไป ทำมันไปอย่างบ้าบิ่นและไม่มีแบบแผน ทำให้ตัวเองเสียทั้งเวลา เสียทั้งสุขภาพโดยใช่เหตุ 

ถ้าใครที่กำลังคิดอยากจะออกจากคอมฟอร์ทโซนอยู่ละก็ ผมมองว่าเราควรหาวิธีการออกจาก comfort zone ที่ไม่พาเราออกไปไกลเกินตัวครับ ดังนั้นผมเลยอยากจะมาแชร์วิธีคิดที่ผมคิดว่าค่อนข้างมีประโยชน์ในการประเมินว่าเราออกจาก comfort zone ไกลเกินตัวรึเปล่าด้วย The Learning Zone Model และ Growth Zone ครับ

การจะรู้ได้ว่าเราออกจาก comfort zone มาไกลเกินไปไหม ผมว่าเราต้องรู้ก่อนว่าแบบไหนใกล้และแบบไหนไกลครับ ซึ่งผมคิดว่า The Learning Zone Model ที่นักจิตวิทยา Lev Vygotsky คิดค้นขึ้นสามารถช่วยเราได้เยอะมากครับ โดยใน The Learning Zone Model มีการอธิบายว่า เราเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็ต่อเมื่อเราสามารถบาลานซ์กันระหว่างความท้าทายกับความสามารถที่เรามีครับ ซึ่งโมเดลนี้ก็แบ่งความยากของความท้าทายไว้สามระดับ นั่นก็คือ Comfort Zone, Learning Zone และ Panic Zone ครับ 

แต่ถ้าเราไปอ่านบทความอื่นๆ เราจะพบว่าจะมีอีกระดับนึงที่เรียกว่า Growth Zone ครับ ซึ่งเป็นระดับที่เราผ่าน Learning Zone และเข้าสู่ Growth Zone ที่เรามีทักษะพร้อมที่จะเอาทุกความท้าทาย ผมเลยได้เอา The Learning Zone Model และ Growth Zone มารวมกัน เพื่อใช้ในการประเมินว่ามาไกลจาก comfort zone มากไปไหม ถ้าพร้อมแล้วเรามาดูรายละเอียดแต่ละอันกันเลย

the learning zone model for getting out of comfort zone

Learning Zone : พื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะให้พร้อมทุกอุปสรรค

Learning Zone เป็นพื้นที่แรกที่เราออกมาจาก comfort zone ได้ในขั้นแรกครับ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากๆ เพราะเราได้เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แก้ปัญหาที่อยู่ในระดับมือใหม่จัดการได้ ซึ่งจะช่วยให้เรามีความมั่นใจ มีพื้นฐานที่แข็งแรง และพร้อมไปเจอกับปัญหาที่ท้าทายมากขึ้น และถ้าเราเข้าใจเรื่องของ learning how to learn ละก็ เราก็จะยิ่งเรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากครับ

Growth Zone : พื้นที่แห่งการเติบโต วาดฝันสิ่งไหนก็ทำได้สำเร็จ

Growth Zone เป็นพื้นที่ที่สองจากการออกมาจาก comfort zone ครับ ในพื้นที่นี้ เรามีทักษะเหมาะสมกับการจัดการอุปสรรคที่ท้าทาย ตัวอย่างคือ ถ้าเรากำลังอยากจะไปทำงานในตำแหน่ง Manager ละก็ ทักษะที่เรามีเพียงพอเพื่อที่จะไปสู่ตำแหน่งนั้นคือ ทักษะการสื่อสาร ทักษะเฉพาะทาง และทักษะการสังคม ซึ่งเป็นทักษะที่เราเรียนรู้ผ่านการอยู่ใน Learning Zone มาแล้ว ที่เหลือก็แค่ฝ่าฟันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้เท่านั้น พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดในการออกจากคอมฟอร์ทโซนเพื่อพัฒนาตนเองและยิ่งถ้าเรามี Growth mindset ละก็ เรายิ่งไปได้ไกลครับ

Panic Zone : มาไกลเกินกว่าที่ทักษะตอนนี้จะรับไหว รีบถอยกลับมาด่วน!

พื้นที่ Panic Zone เป็นพื้นที่ที่เรามาไกลจาก comfort zone เกินไป เพราะเรายังมีทักษะไม่เพียงพอที่จะเจอกับอุปสรรคและปัญหายากๆ ครับ ซึ่งเรื่องราวของผมก็ตัวอย่างที่ดีเลย

ผมพาตัวเองไปไกลเกินไปจนพาตัวเองไปสู่ Danger Zone หรือ Panic Zone ซึ่งเป็นอันตรายต่อการเติบโตและชีวิตการทำงานของผม เพราะนอกจากผมจะไม่ได้เรียนรู้มากขึ้นแล้ว ผมยังเสียสุขภาพสุดๆ แทนที่จะได้พัฒนาตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น

ผมเชื่อว่าถ้าเราเอาเจ้าตัว The Learning Zone Model กับ Growth Zone มาปรับใช้กับการพัฒนาตัวเอง และพาตัวเองออกจาก comfort zone ละก็ แผนการพัฒนาตัวเองของเราจะมีความเป็นไปได้ที่ดีมากๆ ครับ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่ออกจาก Comfort Zone สำเร็จ

การพาตัวเองออกจาก comfort zone ได้สำเร็จ (และมีแบบแผนอย่างที่ผมเสนอ) จะมาพร้อมซึ่งประโยชน์และโอกาสมากมายจริงๆ อย่างที่หลายๆ คนที่เขียนเรื่องพัฒนาตัวเองแนะนำกัน ผมเลยอยากจะมาแชร์ 7 สิ่งที่คิดเป็นประโยชน์ที่ได้มาจากการพาตัวเองออกจาก comfort zone ครับ

the benefits of getting out of comfort zone

Resilience

มีงานวิจัยพบว่า ทักษะในการปลุกใจตัวเองให้สู้ต่อ หรือ Resilience เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนกันได้ และการออกจาก comfort zone ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้เรามีพลังนั้นครับ นั่นเป็นเพราะว่าการออกจากคอมฟอร์ทโซนจะช่วยให้เรารับมือกับความไม่แน่นอนและความไม่สบายใจจากสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างดี

การที่เราสามารถปลุกพลังความ “ฮึ้บ” ของตัวเอง สูดหายใจลึกๆ แล้วกลับมาทำงานต่อในวันที่ใจห่อเหี่ยวได้นั้นเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ ที่จะช่วยให้เราก้าวหน้าในที่การงานและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจครับ

ได้รู้จักตัวเองมากกว่าเดิม (Self-awareness)

เราจะรู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไรก็ต่อเมื่อเราได้ลองลงมือทำจริงๆ เท่านั้นครับ ผมคิดว่าการ comfort zone เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ถ้าทำอย่างถูกวิธี อย่างผมเองก็ได้รู้ว่าตัวเองไม่ชอบการทำงานสตาร์ทอัพ แต่ชอบการทำงานการตลาดออนไลน์มากกว่า เพราะออกจาก comfort zone มาลองผิดลองถูกนั่นเอง ซึ่งเราจะไม่มีทางรู้ศักยภาพที่แท้จริงของเราได้เลยหากเรายังคงติดอยู้ใน comfort zone ครับ

เห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น (Self-esteem)

การเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองและการเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันมากๆ ครับ สมัยที่ผมจริงจังกับการพัฒนาตัวเองแรกๆ ผมเป็นคนที่ self-esteem ต่ำสุดๆ และไม่มั่นใจในตัวเองเลย ยิ่งตอนช่วงออกจาก comfort zone แบบมุทะลุยิ่งทำให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ ครับ

แต่ว่าหลังจากที่ผมเปลี่ยนสายงานมา ออกจาก comfort zone มาแบบไม่ไกลมากนักก็ทำให้ผมพัฒนามากขึ้น (อยู่ใน Learning Zone) ผมค่อยๆ จัดการกับปัญหาที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ (เริ่มก้าวสู่ Growth Zone) เริ่มเก็บสะสมความมั่นใจในตัวเองในการทำงานมากขึ้น และท้ายที่สุด ผมก็เริ่มเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นครับ ผมคิดว่า การเข้าใจคุณค่าของตนเองเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดข้อนึงเลยของการออกจาก comfort zone อย่างชาญฉลาดครับ

ไม่นึกเสียดายทีหลัง

รู้อะไรก็ไม่เท่ารู้งี้นะครับ ผมว่าการออกจาก comfort zone ไปทำในสิ่งที่เราอยากทำ ทำในสิ่งที่เราเชื่อ ทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าเราจะไม่เสียดายทีหลัง เป็นสิ่งที่ดีมากๆ

เรามักจะเห็นวิดิโอเวลาที่มีสื่อไปสัมภาษณ์คนอายุมากๆ ที่ทั้งประสบความสำเร็จและมีชีวิตธรรมดาๆ พูดกันไปในลักษณะเดียวว่า “ถ้าย้อนกลับไปได้ ฉันจะทำสิ่งนี้” “ฉันเสียดายมากที่ไม่ได้ทำสิ่งนั้น”

ซึ่งผมมองว่า เราเองก็ไม่ได้อยากมีความรู้สึกนั้นเหมือนกัน และผมเชื่อว่าการออกจาก comfort zone จะเป็นสิ่งทีจะช่วยให้เราไม่ใช้ชีวิตโดยมานึกเสียดายทีหลังครับ

3 วิธีออกจาก Comfort Zone (คอมฟอร์ทโซน)

การออกจาก comfort zone ที่ดีคือการออกจากคอมฟอร์ทโซนอย่างมีแบบแผนครับ ผมได้แนะนำวิธีคิดในการออกจากคอมฟอร์ทโซนด้วย The Learning Zone Model ไปแล้ว แต่ถ้าอยากได้เป็นวิธีที่เห็นภาพมากขึ้น ผมอยากจะมาแชร์ 3 วิธีการออกจาก comfort zone จากประสบการณ์ของผมที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับทุกๆ คนครับ 

เลือกสิ่งที่อยากจะทำ 1 อย่าง

ผมคิดว่าเราทุกคนมีความคิดยิ่งใหญ่หลากหลายอันที่เราอยากจะทำแน่ๆ เลยใช่ไหมครับ แต่น่าเสียดายที่เวลาเราอาจจะมีไม่พอสำหรับหลายๆ อย่างที่เราอยากจะเริ่ม ดังนั้นผมคิดว่าใช้เวลาคิดให้ดีๆ ว่าการออกจาก comfort zone ครั้งนี้ เราจะออกไปเพื่ออะไรและทำอะไรครับ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกจากคอมฟอร์ทโซนครับ

ตั้งเป้าหมายยิ่งใหญ่ แต่ค่อยๆ ทำทีละนิดในทุกๆ วัน

ผมทำเว็บนี้ขึ้นมาเพื่อทำรีวิวหนังสือและเขียนบทความเล่าประสบการณ์การพัฒนาตัวเองครับ ผมนี่จินตนาการไปไกลเลยว่า เว็บผมจะต้องมีคนเข้าหลักแสน มีเป้ายิ่งใหญ่สุดๆ แต่ผมคิดว่าคงจะยากที่มีคนเข้าเว็บหลักแสนคนในไม่กี่วันที่ผมเริ่มทำเว็บไซต์

ผมคิดว่าการมีเป้าหมายใหญ่ๆ เป็นเรื่องที่ดีและช่วยให้เรามีแรงผลักดันด้วย แต่ว่าอย่ามุทะลุพาตัวเองไปอยู่ใน Danger Zone หรือ Panic Zone อย่างที่ผมทำตอนออกจาก comfort zone นะครับ

หนึ่งในวิธีที่ผมเห็นหลายๆ คนใช้แล้วค่อนข้างเวิร์คก็คือตั้งเป้าหมายแบบ SMART ครับ คือการตั้งเป้าหมายที่เจาะจง วัดผลได้ ทำได้จริง มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาตัวเอง และอยู่ในกรอบเวลาที่เราทำได้ครับ

ผมเองก็ไม่ได้ทำตามนี้เป๊ะๆ นะครับ แต่ก็มีหลายอย่างที่ค่อนข้างสอดคล้องกับการตั้งเป้าแบบ SMART ครับ เช่น ผมอยากจะลงบทความในเว็บ 10 บทความ ใน 1 เดือน ในหัวข้อการพัฒนาตัวเอง เป็นต้นครับ

รู้ว่าจุดไหนควรลุยต่อ จุดไหนควรหยุดพัก

จุดนี้เป็นจุดนึงที่สำคัญมากๆ ครับเวลาที่เราออกจาก comfort zone และมีความคาบเกี่ยวกับระหว่างตัวเองใน Growth Zone และ Panic Zone ครับ

ในวันที่เราโหมงานหนักเกินไป หรือใจอ่อนล้าจากเรื่องต่างๆ นั้น ผมคิดว่าเราควรจะหยุดพักบ้าง แวะกลับมาใน comfort zone สักนิด ชาร์จแบทตัวเองให้เต็มที่ แล้วค่อยไปลุยกันต่อครับ เพราะไม่ว่าเป้าหมายในการออกจากคอมฟอร์ทโซนของแต่ละคนจะเป็นอะไรก็ตาม ผมเชื่อว่าสุขภาพกายและสุขภาพใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ

ตาคุณแล้วกับการออกจาก Comfort Zone (คอมฟอร์ทโซน) อย่างมีแบบแผน

อ่านมาจนถึงตอนนี้ ผมเชื่อว่าเราได้เห็นทั้งประโยชน์ของการอยู่ใน comfort zone และผลเสียของการไม่ออกจาก comfort zone กันครบถ้วนแล้ว แต่ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าเราจะอ่านบทความพัฒนาตัวเองมากแค่ไหน ทุกอย่างจะเกิดขึ้นเมื่อเราลงมือทำเท่านั้นครับ

แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เราวางแผนไว้หมด แต่ผมเชื่อว่าเส้นทางการออกจาก comfort zone อย่างมีแบบแผนเพื่อไปทำในสิ่งที่เราอยากทำ ทำในสิ่งที่เราไม่นึกเสียดายทีหลัง ได้ค้นพบว่าแท้จริงเราชอบสิ่งไหน ไม่ใช่การเลือกที่ผิดแน่นอนครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน

MindTools | Home. (n.d.). https://www.mindtools.com/a0bop9z/the-learning-zone-model

How to get out of your comfort zone (in 6 simple steps). (n.d.). https://www.betterup.com/blog/comfort-zone

Page, O., MD. (2022, July 23). How to Leave Your Comfort Zone and Enter Your ‘Growth Zone.’ PositivePsychology.com. https://positivepsychology.com/comfort-zone/

Sussex Publishers. (n.d.). Why uncertainty freaks you out. Psychology Today. Retrieved December 3, 2022, from https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-right-mindset/202002/why-uncertainty-freaks-you-out

บทความนี้มีเป็นประโยชน์กับคุณหรือไม่?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวตเลย!

Average rating 5 / 5. Vote count: 19

Written by