Resilience เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ทักษะสำคัญที่คนทำงานต้องรู้
เสริมความมั่นใจในยามคับขัน เข้าใจทุกแง่มุมว่า Resilience คืออะไร? และทำอย่างไรถึงจะสร้าง Resilience ในการทำงานทั้งในฐานะคนทำงานและเจ้าของกิจการได้
contentbooknotes

Resilience ความเข้มแข็งทางจิตใจ ปลุกพลังความฮึ้บให้ลุกขึ้นมาทำงานต่อ

Resilience” ศัพท์ยอดฮิตที่เรามักจะเห็นในโลกออนไลน์ และได้ยินตอนฟัง Podcast ด้านการพัฒนาตนเองต่างๆ ซึ่งหลากหลายองค์กรยกให้การมีทักษะ Resilience เป็นหนึ่งในทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่คนทำงานทุกคนควรมีอีกด้วย

แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของ Resilience นั้นไม่ใช่การล้มแล้วลุกให้ไวในยามวิกฤตเท่านั้น และการสร้าง Resilience ขึ้นมาก็ไม่ใช่ว่าจะพัฒนาปุ้บ แล้วสามารถทำให้เราฝ่าฟันอุปสรรคได้เลยในทันตาเห็น

บทความนี้ผมอยากจะมาลงลึกกันจริงๆ ว่า สิ่งที่เรียกว่า Resilience หมายถึงอะไรกันแน่? พร้อมอธิบายลักษณะของคนที่มี Resilience Mindset ว่าจริงๆ มีลักษณะแบบไหน รวมถึงตัวอย่างคนที่มี Resilience ที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้าง Resilience ให้กับตัวเราเองมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

cropped-Untitled-Artwork.png

Resilience คืออะไร?

Resilience คือ ความสามารถในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จากความยืดหยุ่นทางอารมณ์และความเข้มแข็งทางจิตใจในการอดทนต่อสถานการณ์ที่กดดันและตึงเครียดได้

ความหมายของ Resilience แบบด้านบนนี้ ถ้าเข้าใจแบบผิวเผินจะรู้สึกเหมือนกับว่าทักษะของพระเอกในหนังที่สามารถจัดการได้ทุกปัญหา

แต่จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าใจความสำคัญของการมี Resilience นั้นคือ การที่เรามีความสามารถในการบริหารความเครียดในแนวทางที่ดีกว่าคนที่ไม่มี Resilience ซึ่งทำให้เราสามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างมีสติ แทนที่จะตื่นกลัวกับสถานการณ์วิกฤตครับ

นอกจากนี้การมีความเข้มแข็งทางจิตใจไม่ใช่เรื่องของความอดทนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของทักษะการทำงานหลากหลายแขนง เช่น ทักษะการบริหาร ทักษะการแก้ไขปัญหา เป็นต้น ซึ่งช่วยให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตต่างๆ ได้ รวมถึงการพักฟื้นอย่างถูกวิธีกับการอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดเป็นระยะเวลายาวนานอีกด้วย (ซึ่งผมจะอธิบายในหัวข้อถัดๆ ไปครับ)

นั่นหมายความว่าการสร้าง Resilience ให้เกิดขึ้นได้นั้น เราจำเป็นที่จะมีบางอย่างที่เป็นรากฐานสำคัญ เพื่อให้เราให้เรามีความเข้มแข็งทางจิตใจ และบางอย่างที่ว่านี้ก็คือการมีพื้นฐานด้านมายเซ็ทที่แข็งแรง ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า resilient mindset ครับ

cropped-Untitled-Artwork.png

Resilient mindset คืออะไร?

Resilient mindset คือ มุมมองของเราต่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจในสถานการณ์ที่กดดันและตึงเครียด โดยมีรากฐานสำคัญจากความเข้าใจในจุดแข็งและข้อจำกัดของตัวเอง ทำให้สามารถบริหารจัดการความเครียดได้ในสถานการณ์วิกฤต

ความหมายของ Resilient mindset นั้น มีหลายที่นิยามเอาไว้ แต่ก็ไม่ค่อยเหมือนสักกันที่ ซึ่งถ้าผมต้องเลือกความหมายละก็ นิยามข้างบนจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีความเข้มแข็งทางจิตใจที่สุดครับ

คนที่มี resilient mindset จะเป็นคนที่มีความเข้าใจในตัวเองสูง รู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เข้าใจว่าตอนไหนควรพักตอนไหนควรสู้ต่อ มองเห็นวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ทำให้สามารถบริหารจัดการอารมณ์และความเครียดได้ดีในสถานการณ์ที่กดดันและตึงเครียด

ผมคิดว่าการมีมายเซ็ทแบบ resilience เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้เราได้ เพราะอารมณ์ ความเชื่อ และ mindset เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดพฤติกรรม ซึ่งสามารถอธิบายตามภาพด้านล่างนี้เลยครับ

the a-b-c model of resilience to explain how a mindset is essential to build resilience

นักจิตวิทยา Albert Ellis มองว่า เวลาที่เจอวิกฤตหรือสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียดและความกดดัน สมองของเราจะวิเคราะห์สถานการณ์ จากนั้นก็นำผลลัพธ์จากการวิเคราะห์มาต่อยอดเป็นอารมณ์และพฤติกรรมต่อสถานการณ์นั้นๆ ขึ้นมา

ดังนั้นความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์และ resilient mindset เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการสร้าง resilience ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจต่อก็คือ การเข้าใจเกี่ยวกับ Resilient skills ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในทำให้เรามีความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างแท้จริง

cropped-Untitled-Artwork.png

Resilience skill คืออะไร?

Resilience skill คือ ส่วมผสมของทักษะหลากหลายแขนงที่ส่งเสริมให้เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในสถานการณ์ที่ตึงเครียดและยากลำบากได้

ที่ใช้คำว่า “ส่วนผสมของทักษะหลากหลายแขนง” มีเหตุผลหลักๆ ประมาณ 3 ส่วนครับ

ส่วนที่หนึ่ง คือ การที่เราจะสามารถลุกขึ้นได้อย่างว่องไวจากความล้มเหลวนั้น เราต้องมีทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการบริหารจัดการคน และอีกหลากหลายทักษะรวมกันที่ช่วยให้เรามองเห็นทางออกจากวิกฤตนั้นๆ ได้

ส่วนที่สอง คือ การมี Resilience ยังหมายถึง “การฟื้นฟูพลังใจ” อีกด้วยนะครับ เพราะว่าการที่เราเจอกับความล้มเหลว เราต้องรู้สึกเฟล หรือรู้สึกแย่กับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ดังนั้นยิ่งเราฟื้นจิตใจเราได้เร็ว ปลุกพลังความฮึ้บให้กลับมาทำงานต่อได้ไวเท่าไหร่ เราก็สามารถที่จะกลับมากู้สถานการณ์ตรงหน้าได้ดีและว่องไวมากขึ้น

และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือว่า เราเรียก Resilience ว่าเป็น “ทักษะ” ใช่ไหมครับ ดังนั้นอะไรก็ตามที่ถูกเรียกว่าเป็น “ทักษะ” หรือ skill แปลว่าเราสามารถที่จะฝึกฝนกันได้นั่นเอง

แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่การสร้าง Resilience ในการทำงาน ผมอยากจะพูดถึงเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Resilience สักเล็กน้อย เพื่อที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องของความเข้มแข็งทางจิตใจ หรือ ความยืดหยุ่นทางอารมณ์มากขึ้นครับ 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Resilience ในโลกธุรกิจ

สำหรับผมแล้ว Resilience เป็น buzzword ที่ผมเห็นบ่อยมากๆ ในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ไม่ก็ช่วงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งทำให้หลายๆ คนอาจจะมีความเข้าใจผิดว่า Resilience เป็นเหมือนกับยาวิเศษที่ช่วยเยียวยาทุกสิ่งให้เราฝ่าฟันทุกอุปสรรคได้อย่าง่ายดาย

แต่จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าความยืดหยุ่นทางอารมณ์หรือความเข้มแข็งทางจิตใจนั้น ไม่ใช่สิ่งที่อยู่เฉยๆ แล้วจะมีกันได้เลย แต่เป็นสิ่งที่จะมีได้จากการมีมายเซ็ทและพฤติกรรมที่สนับสนุบให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างที่ผมได้เล่าไปช่วงต้นของบทความครับ

ผมคิดว่าบทความ Resilience Is About How You Recharge, Not How You Endure จาก Harvard Business Review อธิบายไว้ได้ดีมากๆ เกี่ยวกับหนึ่งในหลายๆ ความเข้าใจผิดเรื่อง Resilience ว่า สิ่งที่จะช่วยให้เรามีความเข้มแข็งทางจิตใจนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องการอดทนต่อสิ่งต่างๆ ได้ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องการพักฟื้นตัวด้วย มีงานวิจัย Resilience ที่ิค้นพบว่า การที่เราโฟกัสแต่งานและไม่หยุดพักผ่อนเลย ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรเป็นมูลค่ามากกว่า 62 ล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว

ถ้าย้อนกลับมาเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับ Resilience เราก็จะเริ่มเห็นว่า ถ้าเราเข้าใจแค่ว่า Resilience หมายถึงการอดทนต่อวิกฤตเท่านั้นละก็ ความเข้าใจนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งไม่ดีแน่ๆ ในยามวิกฤต และยังทำให้เรา burnout ได้อีกด้วย

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญจริงๆ เกี่ยวกับ Resilience ก็คือ การที่เราพยายามทำสิ่งๆ นั้นให้ถึงที่สุด และเมื่อไปถึงจุดที่ไม่ไหว ให้เราหยุดพักฟื้นให้เพียงพอ เพื่อฟื้นฟูพลังใจและกลับมาสู้กับวิกฤตต่อไปครับ

ลักษณะของคนที่มี Resilient Mindset และตัวอย่าง Resilience มีอะไรบ้าง?

ผมคิดว่าการจะจำแนกว่าใครเป็นคนที่มี Resilience หรือไม่มี Resilience นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเลยทีเดียว (ขนาดแนวคิดเรื่อง Resilience ยังยากที่จะเข้าใจเลยใช่ไหมครับ5555) เพราะแต่ละคนก็มีความอดทนในแต่ละเรื่องแตกต่างกันไป บางคนอดทนกับเรื่องในที่ทำงานได้ แต่อดทนกับเรื่องจุกจิกเยอะๆ ไม่ได้ เป็นต้น

ผมมองว่าการเข้าใจลักษณะของคนที่มี resilience mindset เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้าง resilience ให้เกิดขึ้นได้กับตัวเราอย่างยั่งยืนครับ 

และเพื่อให้เราเข้าใจเรื่องของความเข้มแข็งทางจิตใจ หรือ ความยืดหยุ่นของอารมณ์ได้มากขึ้น ผมได้รวบรวมลักษณะของคนที่มี Resilience มาจากหลากหลายแหล่ง รวมถึงจากประสบการณ์ที่เคยเห็นมา ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับทุกคนครับ

cropped-Untitled-Artwork.png

ลักษณะของคนที่มี Resilient Mindset

  • ความเข้าใจในตนเอง (Self-awareness)
  • ความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-esteem)
  • มองโลกในอย่างที่เป็น และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นๆ
  • มีแนวคิดแบบ Growth Mindset
  • มีทักษะการตัดสินใจและการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม
  • มีแผนการและเป้าหมายที่ชัดเจน

ความเข้าใจในตนเอง (Self-awareness)

ความเข้าใจในตนเอง หรือ self-awareness คือสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง resilience เลยก็ว่าได้ครับ ความสามารถในการล้มและลุกได้ไวนั้นเกิดจากการที่เราเข้าใจในความสามารถของตนเอง ประเมินทั้งตัวเองและสถานการณ์โดยรอบ เข้าใจว่าจุดแข็งและจุดอ่อนเราคืออะไร เราสามารถทำสิ่งไหนได้และขีดจำกัดของตัวเองที่รับไหวอยู่ที่ประมาณไหน ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญมากๆ ของคนที่มี resilience ครับ

ความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-esteem)

ลักษณะเด่นอีกหนึ่งอย่างของคนที่มี Resilience mindset คือ การเห็นคุณค่าในตัวเอง การที่เรามีศรัทธาในตนเอง เชื่อมั่นในความรู้และความสามารถตัวเองในแบบที่เราเป็นจริงๆ คือ สิ่งที่ทำให้เกิด resilience ขึ้นครับ 

สิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้เรามีความเชื่อมั่นในตนเองก็คือ การมองย้อนกลับไปดูความสำเร็จในอดีตของเราครับ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็กๆ หรือความสำเร็จที่เราภาคภูมิใจกับมันสุดๆ การมองกลับไปดูความสำเร็จเก่าๆ จะช่วยปลุกใจให้เรามีความมั่นใจว่าเราสามารถจะฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปได้ครับ

มองโลกในอย่างที่เป็น และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นๆ 

อีกหนึ่งลักษณะเด่นของคนที่มี Resilience คือ การวิเคราะห์สถานการณ์ให้อยู่ในความจริงโดยที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยอารมณ์ของเรา ครับ

ทุกคนน่าจะรู้กันดีว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ เวลาที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งบางครั้งเราอาจจะต้องการมุมมองจากคนอื่นๆ เพื่อให้เรามองเห็นสถานการณ์ได้อย่างที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดไปเองครับ 

ลองนึกย้อนไปในสถานการณ์ที่ตัวเราเองคิดมากหรือคิดไปเองดูครับ (ผมเชื่อว่าเรามีกันทุกคนแน่ๆ) หลายครั้งเราคิดมากกับเหตุการณ์นั้นไปเอง พอเราไปคุยกับเพื่อนสนิทปุ้บ เราก็เข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้นทันที

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญของการมี Resilience ไม่ใช่เรื่องของความอดทนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการมีความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นๆ มีเพื่อนสนิทที่คอยรับฟังปัญหาและคอยช่วยเหลือกัน ซึ่งทำให้เราสามารถฟื้นฟูพลังใจ มองสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้น และดึงพลังฮึ้บของตัวเองมาต่อกรกับวิกฤตครั้งนี้ต่อไปครับ

มีแนวคิดแบบ Growth Mindset 

ลักษณะของคนที่มี Resilience นั้นมักจะเป็นคนที่มี Growth mindset หรือกรอบแนวคิดแบบเติบโตด้วย ซึ่งคนที่มีมายเซ็ทแบบนี้มักจะเป็นคนที่

  • มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตเป็นโอกาส
  • มีความพยายามที่จะฝ่าฟันอุปสรรคแม้จะมีบางอย่างที่คอยฉุดรั้งตัวเองไว้
  • มองว่าความพยายามเป็นหนทางในการเป็นที่สุดในด้านที่ตนเองเชี่ยวชาญ
  • รับฟังความคิดเห็นอย่างชาญฉลาดและนำมาปรับปรุงตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
  • มองหาบทเรียนและแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของคนอื่น

จะเห็นได้เลยว่าคนที่มี Growth mindset นั้น เป็นคนที่คล้ายคลึงกับคนที่มี resilience อย่างมากเลยใช่ไหมครับ ดังนั้นผมคิดว่าถ้าเราอยากจะเป็นคนที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจจริงๆ ละก็ การพัฒนาตนเองให้มี Growth mindset ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเราได้มากๆ เลยครับ

มีทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม

ทักษะการตัดสินใจ และทักษะการแก้ปัญหาในยามวิกฤตเป็นสิ่งที่ทำให้แนวคิดเรื่อง Resilience เป็นเรื่องที่ฮอตฮิตมากๆ ในโลกธุรกิจเลยครับ 

เรามักจะเห็นเรื่องราวของ entrepreneur ที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะ เจ้าของกิจการมีการตัดสินใจที่เฉียบขาด มีทักษะ Problem solving และมีความเข้มแข็งทางจิตใจเพื่อฝ่าฟันทุกความยากลำบากใช่ไหมครับ

ดังนั้นทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาจึงเป็นอีกหนึ่งลักษณะเด่นที่คนที่มี Resilience ส่วนใหญ่มักจะมีกันครับ

มีแผนการและเป้าหมายที่ชัดเจน

อีกหนึ่งลักษณะสำคัญของการมี Resilience ก็คือการวางแผนครับ Entrepreneur หรือ ผู้ประกอบการที่สามารถหาโอกาสได้ในยามวิกฤตนั้น มักจะมีแผนการและเป้าหมายที่ชัดเจนว่ามีเป้าหมายในการพาธุรกิจไปในทางทิศทางไหน พร้อมแผนการและลำดับขั้นตอนเพื่อไปให้ถึงจุดหมายนั้นครับ

แน่นอนว่าแผนที่คิดมาอาจจะคิดมาแบบเร็วๆ ไม่ได้เป็นระบบและลงรายละเอียดมากนัก แต่ว่าคนที่มี Resilience นั้นมักจะวางทิศทางและสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ตัวเองฝ่าฟันวิกฤตในขณะนั้นได้ดีครับ

7 วิธี การสร้าง Resilience ในการทำงาน เพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจ

หลังจากที่เราเข้าใจว่า Resilience คืออะไรแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะเข้าสู่ส่วนที่สำคัญที่สุดกันแล้วนั่นก็คือการสร้าง Resilience ในการทำงานนั่นเอง

ผมรวบรวม 7 วิธีการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ หรือ ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ จากหลายๆ แหล่งและจากประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อให้เรามีความพร้อมกับการทำงานในสถานการณ์ที่ยากลำบาก จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย!

cropped-Untitled-Artwork.png

วิธีการสร้าง Resilience ในการทำงาน

  • อย่าตกหลุมพรางความคิดตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเองให้ดี
  • พัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพใจ 
  • ออกจาก comfort zone
  • การบริหารความคาดหวังอย่างสมเหตุสมผล ทั้งกับตัวเองและหัวหน้า
  • ฝึกฝนและพัฒนาทักษะของตนเองเสมอ
  • เรียนรู้จากความผิดพลาด
  • ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

1. อย่าตกหลุมพรางความคิดตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเองให้ดี

การจะสร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ได้นั้น เราต้องรู้จักตัวเองก่อนเลยเป็นลำดับแรกครับ ซึ่งวิธีการที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น คือ การทำลิสต์ออกมาว่า ในช่วงที่ตัวเองเครียดและกดดัน อะไรเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เรารู้สึกแบบนี้กันนะ?

อย่างผมเองจะรู้สึกเครียดและกดดันมากๆ เมื่อหัวหน้าสั่งงานที่ผมไม่มีประสบการณ์ในการทำมาก่อน แต่ก็ยังยืนยันว่าผมต้องเป็นคนทำงานนี้ เพราะว่า เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีแค่ผมเท่านั้นที่ทำงานนี้ได้ ซึ่งการทำงานสำคัญที่ตัวเองไม่ถนัดเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเครียด กดดัน และไม่มั่นใจตัวเองมากๆ ส่งผลให้ผม panic และทำงานได้ไม่ดีภายใต้สถานการณ์วิกฤต

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำผมเครียใกล้เคียงตาม The A-B-C Model of Resilience ของนักจิตวิทยา Albert Ellis เลยครับ เราเจอวิกฤต เราวิเคราะห์สถานกาารณ์และคิดมากกับมัน จากนั้นก็มีพฤติกรรมตามสิ่งที่คิด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ ครับสำหรับผม

สิ่งที่จะช่วยทำให้เราสร้าง Resilience ในการทำงานได้นั้น คือ เข้าใจในศักยภาพตัวเองว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้โดยที่เราไม่คิดไปเองครับ หลายครั้งสิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นจริงๆ ก็ค่อนข้างแตกต่างกันครับ งานที่ผมได้รับมอบหมายที่เล่าไปก่อนหน้านี้ คือ งานออกบูทขายของครับ แต่ผมทำงานด้าน Digital Marketing และเป็น Introvert 90% แน่นอนว่าผมต้องวิตกแน่นอน แต่พอถึงเวลาจริงๆ มันก็ไม่ได้แย่มากนัก แน่นอนว่าผมทำงานได้ไม่ดีขนาดนั้น แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ซะทีเดียว

ดังนั้น การสร้าง resilience ในการทำงานให้เกิดขึ้นได้ เราต้องไม่คิดไปเอง เข้าใจจุดแข็งและข้อจำกัดของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจในการทำงานภายใต้สภาวะวิกฤตได้ดีขึ้นครับ

2. พัฒนาสุขภาพกาย (Physical well-being) และสุขภาพใจ (Mindfulness)

ความเข้มแข็งทางจิตใจที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความต้องการขั้นพื้นฐานของเราได้รับการเติมเต็ม มีงานวิจัยพบว่า พนักงานที่มี resilience สูง มักจะเป็นคนที่ความต้องการขั้นพื้นฐานได้รับการเติมเต็มแล้วทั้งสิ้น เช่น มีอิสระในการบริหารจัดการงานของตนเอง หรือ การได้รับการยอมจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า เป็นต้น

ไม่ใช่แค่ความต้องการพื้นฐานในการทำงานที่เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจเท่านั้น ความต้องการพื้นฐานทางจิตใจและร่างกายเองก็สำคัญมากๆ เช่นกัน 

การมีสติ และการอยู่กับปัจจุบัน (Mindfulness) เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความเข้มแข็งทางจิตใจ ไม่หวั่นไหวไปกับวิกฤต คิดอย่างมีสติ ตัดสินใจได้แหลมคม และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาได้ผ่านการนั่งสมาธิ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอครับ

3. ออกจาก comfort zone

อย่างที่ผมเล่าไปว่า หลายครั้งสิ่งที่ทำให้เราไม่มี resilience ในการทำงาน อาจมาจากการที่เราคิดมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดเลยครับหากเราจะคิดมากสุดๆ ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดและกดดัน เพราะทุกๆ การกระทำอาจส่งผลเสียต่อบริษัทได้

แต่การคิดมากเกินไปทำให้เรามองภาพความเป็นจริงผิดเพี้ยนไปครับ ดังนั้นบางครั้งสิ่งที่เราต้องทำคือการออกจาก comfort zone สักนิด เอาชนะความกลัวของตัวเองไปทีละนิด ค่อยๆ เก็บสะสมความมั่นใจผ่านความสำเร็จเล็กๆ ที่เราทำได้ในยามวิกฤต ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามี resilience ในการทำงานท่ามกลางวิกฤตได้ครับ

4. การบริหารความคาดหวังอย่างสมเหตุสมผล ทั้งกับตัวเองและหัวหน้า

ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเหมือน Elon Musk หรือนักธุรกิจมากความสามารถที่ฝ่าฟันทุกปัญหาได้ในทุกวิกฤต

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการสร้าง resilience ในการทำงานก็คือการบริหารความคาดหวังทั้งกับตัวเองและกับหัวหน้างานของเราครับ

ใช่ว่าเราจะสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้เสมอไป บางครั้งความคาดหวังที่สมเหตุสมผลขององค์กรอาจจะเป็นการมีรายได้เพียงพอในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน แทนที่จะเป็นการเอากำไร 100 ล้านในช่วงเศรษฐกิจถดถอยครับ

และในฐานะ First Jobber นั้น ความคาดหวังที่สมเหตุสมผลอาจเป็นการที่สามารถทำงานของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่หัวหน้าไม่ต้องมาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด แทนที่จะเป็นอะไรที่เว่อวังอย่างการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ พลิกโมเดลธุรกิจให้กับองค์กรแบบนั้นครับ

ดังนั้นการบริหารความคาดหวังของตัวเองและหัวหน้างานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรามี resilience ในการทำงานครับ

5. ฝึกฝนและพัฒนาทักษะของตนเองเสมอ

ข้อนี้สำคัญสุดๆ เลยครับ ทั้งกับเจ้าของธุรกิจและพนักงานประจำ แต่สำหรับผมแล้ว เรื่องนี้สำคัญมากๆ กับ First Jobber เพราะว่า First Jobber อย่างเราไม่ได้เป็นมีประสบการณ์การทำงานมากเท่าคนอื่นๆ เราจะตื่นตระหนกและรู้สึกไร้พลังในสถานการณ์ยากลำบากมากกว่าคนอื่นเสมอๆ

ซึ่งการที่ First Jobber จะมี Resilience ในการทำงานได้นั้น เราต้อง Upskill ให้พร้อมกับทุกสถานการณ์ และอาจต้อง Reskill ในกรณีที่เราอยากจะย้ายสายงาน หรือ เพื่อปรับตัวตามสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ครับ

6. เรียนรู้จากความผิดพลาด

ทุกความผิดพลาดคือการเรียนรู้ และคนที่เรียนรู้และปรับปรุงตัวเองจากความผิดพลาดเหล่านี้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าใครครับ

นอกจากนี้ การเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของการมี Growth mindset และการมี Growth mindset ก็เป็นจุดเด่นสำคัญของการมี Resilience ในการทำงานครับ

7. ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

อันนี้อาจจะดูแปลกนิดนึง แต่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการสร้าง Resilience ในการทำงานครับ 

การที่เรารู้ว่าเราไปทำงานทุกวันเพราะอะไร ทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อตนเอง ใช้เวลากับคนที่มีความหมายตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจทั้งสิ้นครับ

สิ่งที่เราควรจะทำเพื่อให้ชีวิตมีความหมายนั้นคือการปฏิสัมพันธ์กับคนอย่างจริงใจ ทำงานที่สามารถพาตัวเองไปสู่จุดที่ตัวเองตั้งเป้าไว้ และการมีกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกใจฟู ซึ่งสิ่งเหล่าจะช่วยเราได้อย่างมากวันที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะ เราสามารถที่มองสถานการณ์ได้ดีขึ้นจากการไประบายกับคนที่เราไว้ใจ กับไปเล่นเกมที่เราชอบหลังจากเจอเรื่องแย่ๆ และกลับไปทำงานต่อเพื่อสานฝันให้เราสำเร็จนั่นเอง

สรุป Resilience  

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าทุกคนมีความเข้าใจในเรื่องของ Resilience มากขึ้นแล้วอย่างแน่นอน ว่าจริงๆ แล้วความเข้มแข็งทางจิตใจนั้นไม่ใช่แค่ความอดทนอดกลั้น แต่เป็นเรื่องของมายเซ็ท เรื่องของการฟื้นฟูจิตใจ และการรู้จักตัวเอง เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ยากลำบากที่เราพบเจอ

ขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยให้เราสามารถสร้าง Resilience ในการทำงานได้สำเร็จก็คือการลงมือทำครับ ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้เราสามารถมีแรงฮึดสู้ต่อในช่วงเวลาคับขันของชีวิตนะครับ

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

Resilience คือ ความสามารถในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จากความยืดหยุ่นทางอารมณ์และความเข้มแข็งทางจิตใจในการอดทนต่อสถานการณ์ที่กดดันและตึงเครียดได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Resilience ไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ไขทุกปัญหาที่เราเจอ

อะไรก็ตามที่ถูกเรียกว่าเป็น “ทักษะ” หรือ “Skill” แปลว่าเราสามารถที่จะฝึกฝนกันได้และ Resilience ก็เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้หากเราเข้าใจแนวคิดของ Resilience อย่างจริงๆ จังๆ ครับ

ความเข้าใจผิดหลักๆ เกี่ยวกับ Resilience มีอยู่สองอย่างครับ

1. Resilience มักจะถูกมองว่าเป็นทักษะที่เหมือนกับยาวิเศษ ถ้ามีแล้วจะสามารถทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างในยามคับขัน ซึ่งไม่ใช่ความจริงทั้งหมดเสียทีเดียวครับ

2. Resilience ถูกมองว่าเป็นเรื่องของความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ยากลำบากเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วการมี Resilience คือ การบริหารจัดการความเครียดและการพักฟื้นฟูพลังใจให้พร้อมกลับมาฮึดสู้ต่อครับ

How to Develop a Resilient Mindset: Recovering From Setbacks. (n.d.). https://www.betterup.com/blog/resilient-mindset

Moore, C. P. (2022, September 12). Resilience Theory: A Summary of the Research (+PDF). PositivePsychology.com. https://positivepsychology.com/resilience-theory/

Ackerman, C. E., MA. (2022, August 15). What is Resilience and Why is It Important to Bounce Back? PositivePsychology.com. https://positivepsychology.com/what-is-resilience/

Riopel, L. M. (2022, September 10). Resilience Examples: What Key Skills Make You Resilient? PositivePsychology.com. https://positivepsychology.com/resilience-skills/

fastcompany.com. (n.d.). https://www.fastcompany.com/90777929/5-myths-about-resilience-you-need-to-stop-believing-so-you-can-cultivate-true-grit

Miller, K. D. (2022, September 12). 5+ Ways to Develop a Growth Mindset Using Grit & Resilience. PositivePsychology.com. https://positivepsychology.com/5-ways-develop-grit-resilience/

Resilience Skills: Definition and Examples. (n.d.). https://www.indeed.com/career-advice/career-development/resilience-skills

Resilience Is About How You Recharge, Not How You Endure. (2021, April 21). Harvard Business Review. https://hbr.org/2016/06/resilience-is-about-how-you-recharge-not-how-you-endure

(c) Copyright skillsyouneed.com 2011-2022. (n.d.). Developing Resilience | SkillsYouNeed. https://www.skillsyouneed.com/ps/resilience.html

บทความนี้มีเป็นประโยชน์กับคุณหรือไม่?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวตเลย!

Average rating 4.5 / 5. Vote count: 2

Written by