Learning how to learn คืออะไร? ทำไมถึงช่วยให้เรียนเก่ง?
จาก 0 สู่ 100 คะแนนเต็ม เปลี่ยนความเชื่อที่ว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง ให้กลายเป็นคนที่เรียนอะไรก็เข้าหัว!
รีวิวคอร์ส Learning how to learn ใน Coursera

Learning How to Learn แค่เรียนถูกวิธี เรียนอะไรก็เข้าหัว!

ถ้าตอนนี้เรากำลังคิดว่าตัวเองฉลาดสู้คนอื่นไม่ได้ เรียนอะไรก็ไม่เข้าหัวแม้จะพยายามสุดความสามารถละก็ ผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่แค่เราสองคนแน่ๆ

ผมอ่านหนังสือทั้งวี่ทั้งวัน ฝึกทำข้อสอบ ไฮไลท์ส่วนสำคัญที่คิดว่าจะออกสอบ (มีแอบไปไหว้พระขอพรด้วยนะครับ) แต่ผลการเรียนก็ออกมาไม่เป็นตามที่คิดไว้ สมัยมัธยมปลายเกรดผมอยู่ที่ประมาณ 2.5 – 2.75 เท่านั้น ซึ่งทำให้ผมสอบไม่ติดคณะที่เพื่อนๆผมเข้ากันอีกด้วยเพราะคณะนั้นจำเป็นต้องมีผลการเรียนเฉลี่ย 3 ขึ้นไป 

แต่วิชา Learning How to Learn ทำให้ผมเข้าใจว่า ที่ผ่านมาผมเรียนผิดวิธีมาตลอด และช่วยทำให้ผมเรียนรู้เรื่องที่คิดว่ายาก ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมหรือคณิตศาสตร์ได้ง่ายขึ้นมาก

ผมเองก็นึกเสียดายว่า ถ้าได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Learning how to learn ตั้งแต่สมัยเรียนละก็ ชีวิตอาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้

ดังนั้นวันนี้ผมก็เลยอยากจะสรุปสำคัญจากคอร์ส Learning how to learn และถือโอกาสรีวิวหนังสือ A Mind for number ซึ่งเป็นหนังสือประกอบการเรียนคอร์สนี้ไปในตัวด้วยเลย เพื่อที่จะทุกคนจะได้มีโอกาสได้นำความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้กับการเรียนได้ครับ

Learning How to Learn คืออะไร?

Learning How to Learn คือ คอร์สที่เปิดสอนใน Coursera ซึ่งมีคนเรียนมากกว่า 3,000,000 คนและยังเป็นวิชาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิชาที่ดีที่สุดจากคนทั่วโลกเลยก็ว่าได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าคอร์สนี้สอนให้เข้าใจว่าไม่ว่าใครๆ ก็เรียนเก่งได้ ถ้าเรียนอย่างถูกวิธี

คอร์ส Learning How to Learn ไม่ใช่วิชาเรียนทั่วไปแต่เป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับ “การเรียน” อย่างถูกวิธี  และวิชานี้ก็เปลี่ยนความคิดเรื่องการเรียนของผมไปอย่างมากเลยทีเดียว

Learning How to Learn ช่วยให้เราเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ แปลว่าจริงๆแล้วอาจจะไม่ใช่ว่าเราหัวไม่ดี แต่แค่เรียนไม่ถูกวิธีใช่ไหม?

มีงานวิจัยค้นพบว่าวิธีการที่นักเรียนส่วนใหญ่ตั้งแต่เด็กประถมไปยันคนวัยทำงานใช้นั้นเป็นวิธีการเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้เรียนรู้สิ่งต่างๆไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น และจุดนี้เองจึงเป็นจุดที่ทำให้เกิดวิชานี้ขึ้นมา Learning How to Learn ครับ 

Barbara Oakley หนึ่งในอาจารย์สอน Learning How to Learn นั้นเกลียดเลขและวิทยาศาสตร์มาก (ผมก็ด้วยครับ5555) เธอจบปริญญาตรีสายภาษา แต่มีโอกาสได้เรียนปริญญาตรีใบที่ 2 ในด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับปริญญาใบแรกของเธอเลยแต่น้อย

ปัจจุบัน Barbara เป็นอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์และทำงานวิจัยร่วมกับนักประสาทวิทยา (neuroscientist) ที่ต้องมีความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างมากในการทำงาน รวมถึงยังมีปริญญาโทและปริญญาเอกด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก (เทพจริงไรจริงครับ)

Babara ยังบอกอีกว่า เธอเองก็เป็นคนที่หลงคิดว่าตัวเองไม่น่าจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ แต่เธอก็พิสูจน์ตัวเองและผลลัพธ์ก็ออกมาอย่างชัดเจนว่า ถ้าเข้าใจว่าเรียนให้ถูกวิธีและนำความรู้เรื่อง Learning How to Learn มาใช้ละก็ ก็จะได้ผลการเรียนที่ดี หรือสามารถนำความรู้ไปต่อยอดได้มากมายเลยด้วย

แสดงว่าเราอาจจะเก่งเรียนรู้เรื่องยากๆและเก่งเท่าคนอื่นได้ ถ้าเราเข้าใจ Learning how to learn ใช่ไหม?

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าเราเรียนรู้ถูกวิธี เข้าใจแนวคิดเรื่อง Learning how to learn ไม่ว่าจะเรื่องยากแค่ไหนก็สามารถทำความเข้าใจได้ครับ แน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ครับ ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิชา Learning how to learn กันเลยดีกว่าครับ

เข้าใจ Learning How to Learn ผ่านการเข้าใจการทำงานของสมองแบบง่ายๆ

จะเรียนได้ดีต้องใช้โหมดการทำงานของสมอง Focused และ Diffused

Learning how to learn concept Focused mode and diffused mode of learning
ภาพจากหนังสือ Learning Like A Pro

Barbara ครูผู้สอนคอร์ส Learning How to Learn เล่าให้ฟังว่า สมองของเรามีทั้งหมด 2 โหมดก็คือ Focused และ Diffused ซึ่งการใช้ทั้ง 2 โหมดของสมองนี้อย่างชำนาญจะทำให้เราเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

โดยเริ่มแรก สิ่งที่เราต้องทำคือกำจัดสิ่งรบกวนโดยรอบให้หมด เช่น โทรศัพท์มือถือ โซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้เราพร้อมสำหรับการโฟกัสในการเรียนที่สุด จากนั้นเราก็จะเริ่มเรียนครับ

เมื่อเราเริ่มจดจ่อกับสิ่งที่เราเรียน สมองของเราก็จะเริ่มเข้าสู่โหมด Focus ในระหว่างนี้สมองจะพยายามช่วยเราทำความเข้าใจเนื้อหาและเชื่อมโยงสิ่งที่เราเรียน เมื่อเกิดการเรียนรู้ขึ้น จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Cognitive Load ขึ้นครับ 

ลองนึกภาพเวลาที่เราเรียนอะไรสักอย่างไม่รู้เรื่อง แต่เรายังพยายามที่จะเข้าใจมันให้ได้ ความรู้สึกหงุดหงิดใจหรือความรู้ปวดหัวกับสิ่งที่เรียนนี่แหละครับคือสิ่งที่เรียกว่า Cognitive Load ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีมากๆว่าเรากำลังเรียนรู้อยู่ครับ

Learning how to learn concept the cognitive load
ภาพจากหนังสือ Learning Like A Pro

และตรงนี้นี่แหละครับคือจุดสำคัญ Cognitive Load ทำให้เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน นั่นก็เพราะว่าเวลาที่เรารู้สึกหงุดหงิดใจหรือปวดหัวกับสิ่งที่เรียน มันทำให้นึกไปเองว่าเราไม่เก่ง เรียนไม่รู้เรื่อง และยอมแพ้ไปก่อน ทั้งที่จริงๆแล้วสมองเรากำลังพยายามช่วยเชื่อมโยงสิ่งที่เราเรียนรู้อยู่

แต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์เรานะครับ ทั้งผมและทุกคนก็เป็น เรามักจะเลือกสิ่งที่ทำให้เราสบายทั้งทางกายและทางใจมากที่สุดครับ แต่เมื่อเข้าใจในจุดนี้แล้วละก็ผมเชื่อว่าเราจะไม่ยอมแพ้เหมือนแต่ก่อนแน่ๆครับ

แ่ต่ก็มีข้อแม้เล็กน้อยในเรื่องนี้นะครับ! 

มนุษย์เราสามารถเรียนรู้และเชื่อมโยงสิ่งต่างๆที่เราเรียนได้แค่ประมาณ 3-4 ไอเดียเท่านั้น ซึ่งเมื่อเกินกว่าจำนวนที่ว่า เราจะเริ่มทน Cognitive Load ไม่ไหว และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Einstellung Effect ครับ

Einstellung Effect เป็นอาการที่เรามัวแต่จดจ่อกับสิ่งที่เราเรียนอยู่มากเกินไปจนทำให้ไม่สามารถเห็นภาพใหญ่ของสิ่งที่เรียนได้ เนื่องจากเราวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีการเดิม ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนรู้และหาคำตอบได้ 

ถ้ายกตัวอย่างก็คือการเปิดขวดน้ำครับ ลองนึกเหตุการณ์ว่าเรากำลังจะเปิดขวดน้ำที่เปิดยากมากๆ เราเลยลองเปิดด้วยมือเปล่า ลองเอาเสื้อคลุมที่ฝาและเปิด หรือแม้กระทั่งเอาไม้บรรทัดมางัดฝาให้เปิดออก ก็ไม่เป็นผล

จากวิธีทั้งหมดนั้น แทนที่เราจะกลับไปตั้งหลักเพื่อหาวิธีใหม่ๆ เรากลับมีแนวโน้มที่จะลอง 3 วิธีนี้ใหม่อีกครั้งเพื่อจะเปิดขวดออกให้ได้ครับ ซึ่งหลายครั้งทำให้เราวนอยู่กับปัญหาเดิมและวิธีการแก้แบบเดิมๆ จนเราไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆและไม่สามารถแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้นั่นเอง

คำพูดที่ว่า มองปัญหาจากอีกมุมนึง หรือลองถอยออกมาจากปัญหาสักก้าวจะเห็นปัญหาชัดกว่านั่นเอง และจุดนี้ก็เลยนำไปสู่สมองอีกโหมดนึง นั่นก็คือโหมด Diffused ครับ

โหมด Diffused เป็นโหมดของสมองที่ไม่ได้จดจ่อกับอะไรเป็นพิเศษ เช่น การนั่งบนรถไฟฟ้า การอาบน้ำ อ่านหนังสือ หรือเวลาที่เราเหม่อลอยไปเรื่อย

แม้จะดูเป็นโหมดที่ไม่มีประโยชน์อะไรเป็นพิเศษ แต่จริงๆแล้วสมองในโหมด Diffused กำลังทำงานอยู่ระหว่างที่เรากำลังทำอะไรเรื่อยเปื่อยอยู่นั่นเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เรามักจะได้ยินเรื่องราวของคนประสบความสำเร็จที่มักจะเจอไอเดียสุดล้ำในระหว่างอาบน้ำ หรือนึกคำตอบของปัญหาซับซ้อนได้ตอนที่ไปนั่งใต้ต้นไม้นั่นเอง

การสร้างการเชื่อมโยงคือหัวใจหลักของการเรียนรู้

The core concept of learning how to learn is creating links in your brain
ภาพจากหนังสือ Learning Like A Pro

การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อมีการเชื่อมโยงเซลล์สมองเข้าด้วยกัน ให้เราลองนึกภาพตัวเรายืนนิ่งๆและพยายามจะเอื้อมมือไปแตะมือของอีกคนที่ยืนอยู่ข้างๆเรานั่นเองครับ 

การเรียนรู้หัวข้อที่ไม่ได้มีความซับซ้อนมากอย่างเช่นการท่อง A-Z หรือ ก – ฮ จะมีความเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองที่ไม่ได้เยอะมาก แต่ถ้าเป็นหัวข้อที่ซับซ้อนมากๆอย่างเช่น คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำมีความเข้าใจในหัวข้อหลากหลายแขนง เซลล์สมองก็จะมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ลองนึกภาพว่าการเชื่อมโยงของเซลล์สมองที่ทำเกิดการเรียนรู้ในรูปแบบของโซ่ครับ เซลล์สมองคือโลหะที่่เป็นข้อๆ และเมื่อโซ่ 1 ข้อ เชื่อมโยงกับโซ่อีกข้อนึง ก็จะได้โซ่ที่ยาวขึ้นนั่นเอง ยิ่งสิ่งที่เรียนรู้ซับซ้อนแค่ไหน จำนวนข้อก็จะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ และโซ่ก็จะยิ่งยาวขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับความรู้ของเราที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราเรียนรู้จะค่อยๆเลือนหายไป ถ้าไม่ได้รับการทบทวนหรือฝึกฝนครับ เหมือนกับโซ่ที่เราใช้จะเสื่อมถอยไปตามกาลเวลาเพราะโดนสนิมนั่นเอง

ดังนั้นเราจะต้องทำการทบทวนและฝึกฝนเพื่อทำให้โซ่แข็งแรงตลอดเวลา เพื่อให้สิ่งที่เราเรียนรู้ยังคงอยู่ในหัวเราไม่จางหายไป

แต่ในมุมมองของผมแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากการฝึกฝนและทบทวนแล้ว นั่นก็คือการสร้างโปรเจคใหม่ที่ต้องใช้ความรู้หลากหลายวิชาเข้าด้วยกันครับ นอกจากจะช่วยทำให้โซ่ที่เราสร้างขึ้นแข็งแรงแล้วจะยังช่วยให้เรามีความเข้าใจว่าแต่ละหัวข้อที่เราเรียนมีความเชื่อมโยงกันอย่างไรด้วยครับ

ให้เราลองนึกภาพเวลาเราฝึกทำโปรเจคอะไรสักอย่าง เราจะต้องนำความรู้หลากหลายแขนงมาใช้เพื่อให้โปรเจคเกิดขึ้น เราต้องนำโซ่หลากหลายอันมาผนวกเข้าด้วยกันนั่นเอง นอกจากนี้การทำแบบนี้จะทำให้สิ่งที่เราเรียนอยู่กับเรานานขึ้นและยังทำให้เราเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างหัวข้อได้ดีขึ้นมากๆเลยทีเดียว

ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้วละก็ หลักการในการเรียนตามหลักของ Learning how to learn ก็คือการสร้างสิ่งใหม่ๆจากความรู้ที่เรามีนั่นเอง และเมื่อเราเรียนรู้และจดจ่อกับสิ่งที่เรียน สมองจะทำความเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน และหยุดพักเมื่อรู้สึกว่าถึงทางตันแล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่อีกครั้ง

ประสบการณ์การนำ Learning How to Learn มาปรับใช้

ผมเริ่มเอาหลักการจากคอร์ส Learning how to learn มาปรับใช้ก็ตอนที่เริ่มทำงานแล้วครับ แต่ก่อนหน้านั้น ทุกอย่างเริ่มต้นจากหนังสือที่เล่าเกี่ยวกับ Growth Mindset ครับ

Mindset: The New Psychology of Success เป็นหนังสือเล่มแรกที่ผมเริ่มอ่านเพราะอยากลองเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ ไม่อยากจะเป็นคนกากๆอีกต่อไป ซึ่งเรียกได้ว่าหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนชีวิตผมเลยก็ว่าได้ เพราะเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ช่วยให้ฝ่าฝนความยากลำบากและความล้มเหลวจากการเรียน และทำให้เราเรียนรู้เรื่องยากๆได้ครับ

เรียนเขียนโปรแกรมเองแม้จะจบสายศิลป์

การเขียนโปรแกรมเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเท่าที่ผมเรียนมาเลยครับ ที่ผมเรียนเขียนโปรแกรมก็เพราะอยากสร้าง Social Listening tool เป็นของตัวเอง และก็อยากจะลองเปลี่ยนสายงานไปงานด้าน Data ครับ (แต่ก็ล้มเลิกไปครับ เพราะยากเหลือเกิน ไว้ลองใหม่ในอนาคต5555)

ในระหว่างการเดินทางสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์มือฉมังนั้น ผมก็ได้นำทักษะ Learning how to learn มาปรับใช้เยอะมากๆครับ ทุกๆครั้งที่ผมเริ่มเรียน ผมจะอยู่ในห้องที่ไร้สิ่งรบกวน ไม่มีโทรศัพท์ ปิด Social ทุกอย่าง และจดจ่อกับมันสุดๆ

Cognitive Load กับ Einstellung Effect เล่นงานผมหนักมากๆในช่วงแรก เพราะผมไม่เข้าใจว่าแต่ละหัวข้อมีความเชื่อมโยงกันยังไง ซึ่งพอผมรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา ผมก็จะไปพัก (เปลี่ยนจาก Focus เป็น Diffuse) และสักพักก็จะรู้สึกเหมือนบางอย่างมันคลิ๊ก ผมก็จะรีบกลับไปเรียนต่อทันที

สำหรับผมแล้ว การเรียนรู้คือการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาครับ ซึ่งนั่นก็คือการทำโปรเจคนั่นเอง ซึ่งทำให้การเรียนรู้ของผมมีประสิทธิภาพขึ้น

นอกจากนี้การทำโปรเจคขึ้นมานั้นเรียกได้ว่าเป็นวิธีการเรียนที่มีศักยภาพมากที่สุดตามหลักการของ Bloom Taxomony ที่ผมแนะนำให้อ่านมากๆ

ท้ายที่สุดนั้น แม้ว่าผมจะไม่ได้ย้ายสายงาน และก็ไม่ได้ทำ Social Listening เป็นของตัวเองจนสำเร็จ  แต่ผมได้เรียนรู้เยอะมากๆ แถมยังได้เอาความรู้การเขียนโค้ดไปเสริมจากงานปัจจุบันที่ทำอยู่ด้วย 

แต่ที่สำคัญที่สุดเลยคือผมรู้สึกมั่นใจในเรื่องการเรียนของตัวเองมากขึ้นครับ ใครจะคิดว่าเด็กหัวอ่อนอย่างผมมันจะเขียนโค้ดได้ (ช่วงแรกๆผมเองก็หวั่นใจเหมือนกัน แต่เพราะมี Growth Mindset นั่นเอง!) ดังนั้นถ้าเด็กหัวอ่อนอย่างผมทำได้ ทุกคนก็ทำได้เหมือนกันนะครับ!

สรุป Learning How to Learn พร้อมขั้นตอนการนำไปปรับใช้

โดยสรุปแล้ว คอร์ส Learning How to Learn ถือเป็นคอร์สที่ดีมากจริงๆ (ฟรีอีกต่างหาก) ผมแนะนำสุดๆและ อยากทุกคนได้ลองไปเรียนกันครับ โดยเฉพาะคนที่คิดว่าตัวเองหัวไม่ดี ผมเชื่อว่าคอร์สนี้จะทำให้มุมมองด้านการเรียนเปลี่ยนไปครับ

ทั้งนี้ผมอยากจะสรุปเนื้อหาสาระทั้งหมด ทั้งจากตัวคอร์สและจากประสบการณ์ของผมนี่นำเนื้อหาไปปรับใช้ออกมาเป็นขั้นตอนว่าจะสามารถนำเนื้อหา Learning how to learn ไปปรับใช้การเรียนของทุกคนออกมา เป็น 3 ขั้นตอนดังนี้ครับ

1. Growth Mindset

ผมคิดว่า Growth Mindset เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนที่มีประสิทธิภาพครับ เพราะเมื่อเราเจออาการ Cognitive Load ที่ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดหรือปวดหัวจากเรียนเมื่อไหร่ เราอาจจะยอมแพ้กับการเรียนก็ได้ แม้ว่าเราจะเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด Learning how to learn ก็ตาม ดังนั้นการมี Growth mindset จะช่วยทำให้เราฝ่าฟันอาการ Cogintive Load และพัฒนาการเรียนเราไปถึงขีดสุดครับ

2. การสร้างโปรเจคใหม่ขึ้นมา

สำหรับผมแล้ว การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการสร้างโปรเจคใหม่ขึ้นจากความรู้หลากหลายแขนงที่เรากำลังจะเรียน ในกรณีของผมคือการสร้าง Social Listening Tool ขึ้นมา ซึ่งผมต้องเข้าใจภาษาโปรแกรมที่เขียน เช่น JavaScript และก็การทำ API ต่างๆ เป็นต้นครับ

แน่นอนว่าเราไม่ได้รู้เรื่องตั้งแต่ต้นครับ แต่เราก็จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไประหว่างทาง และเราก็อย่าพึ่งยอมแพ้กับการเรียนรู้ของเรา เชื่อมั่นในตัวเองและศักยภาพของสมองว่าจะช่วยเราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ครับ

แน่นอนว่าการสร้างโปรเจคขึ้นมาได้ปุ้บ เราก็ไม่ได้กลายเป็นโปรแกรมเมอร์เลยในทันตาเห็นแบบนั้นนะครับ แต่ผมคิดว่าผมเข้าใจในเรื่องของคอมพิวเตอร์มากขึ้นว่าแต่ละอย่างมีความเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันยังไง ซึ่งผมคิดว่ามันเจ๋งมากๆ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับวิชาอื่นๆได้แน่นอนครับ

3. โหมดของสมอง Focused และ Diffused

เราต้องใช้ประโยชน์จากสมองของเราให้ได้มากที่สุด นั่นก็คือ ให้เราโฟกัสกับสิ่งที่เรียนให้มากที่สุด และเมื่อมีอาการ Cognitive Load เมื่อไหร่ให้พยายามทนให้ได้มากที่สุดและลองสังเกตตัวเองดูว่าเริ่มทำอะไรซ้ำไปซ้ำมารึยัง ถ้าใช่แปลว่าเรากำลังเจอ Einstellung Effect

เมื่อรู้ตัว ก็ให้ลองไปพักทำอย่างที่ไม่ใช่เนื้อหาที่เราเรียน เช่น ไปดูทีวี ฟังเพลง (แต่ไม่แนะนำให้เล่นโทรศัพท์และโซเชียลมีเดีย) เพื่อให้สมองเข้าสู่โหมด Diffused ครับ แล้วสัก 10 นาที ค่อยลองกลับมาที่เนื้อหาที่เรียนอีกครั้ง 

จริงแล้วยังมีอีกหลากหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ ถ้าใครเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ก็ฝากทำประเมินข้างล่าง เพื่อที่ผมจะได้ทำบทความที่มีคุณภาพตอบโจทย์ทุกคนได้ดีขึ้นครับ

บทความนี้มีเป็นประโยชน์กับคุณหรือไม่?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวตเลย!

Average rating 5 / 5. Vote count: 21

Written by