Entrepreneurial Mindset คืออะไร? 8 Mindset ปั้นธุรกิจให้ปัง
ใครก็เป็นผู้ประกอบการได้ถ้ารู้ว่า Entrepreneurial Mindset คืออะไร บทความนี้รวบรวม 8 Mindset ที่จะช่วยให้เรากลายเป็นผู้ประกอบการที่ชนะทุกเป้าหมายที่ท้าทาย
entrepreneurial-mindset featured-image

Entrepreneurial Mindset กรอบแนวคิดที่ผลักดันผู้ประกอบการสู่ความสำเร็จ

เจ้าของธุรกิจกับพนักงานประจำ สองบทบาทที่เหมือนจะแตกต่างกัน แต่กลับเหมือนกันจนน่าตกใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นพนักงาน First Jobber อย่างเราๆ หรือเจ้าของบริษัท สิ่งที่ทั้งสองบทบาทต้องการก็คือ การมี mindset แบบผู้ประกอบการ หรือที่เราเรียกกันว่า Entrepreneurial Mindset นั่นเอง

Entrepreneurial Mindset คืออะไร?

Entrepreneurial mindset คือ ทัศนคติที่ช่วยให้เรามองเห็นโอกาสจากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสจากทักษะที่เรามี หรือจากสถานการณ์รอบตัว เพื่อนำโอกาสนั้นมาต่อยอดมาสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ เราจึงได้เห็นตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมากมายจากการเห็นช่องวางในอุตสาหกรรม เช่น แจ็ค หม่า ที่เห็นโอกาสการทำธุรกิจจากการเข้ามาอินเตอร์เน็ตในช่วงต้นปี 2000 หรือ อีลอน มัสก์ ที่มีความรู้เชิงลึกในด้านวิทยาศาสตร์ จึงมาต่อยอดเป็นธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าไปจนกระทั่งธุรกิจอวกาศ

ซึ่งคำถามที่ผุดขึ้นมาเลยก็คือว่า “แล้วพนักงานประจำอย่างเราจะสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ไหม” คำตอบก็คือ “เป็นไปได้แน่นอนครับ” เพราะการพัฒนาตัวเองให้มี Entrepreneurial mindset จะช่วยให้เราเป็นผู้ประกอบการที่ดีได้แม้ว่าจะยังทำงานประจำอยู่ก็ตาม

ทำไม Entrepreneurial Mindset ถึงสำคัญต่อการเริ่มต้นและการประสบความสำเร็จของธุรกิจ?

มายเซ็ทเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรม ถ้าไม่มี Entrepreneurial mindset  ธุรกิจก็ยากที่จะเกิด นั่นจึงทำให้การมีมายเซ็ทผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการเริ่มต้นธุรกิจ

แต่การทำธุรกิจไม่ใช่แค่การเริ่มต้นเท่านั้น เพราะการจะทำให้ธุรกิจเดินไปได้นั้นจะต้องมีการบริหารจากตัวเจ้าของเองในช่วงแรก ถ้าผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มธุรกิจเองไม่มี Entrepreneurial mindset  ละก็  โอกาสในการปั้นธุรกิจให้สำเร็จก็ยากที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการมี Entrepreneurial mindset  ที่คอยผลักดันให้ผู้ประกอบการไม่ยอมแพ้ และคอยลองผิดลองถูกกับธุรกิจตัวเองเพื่อให้ธุรกิจตัวเองเติบโตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากครับ

8 ตัวอย่าง Entrepreneurial Mindset ที่ผลักดันเจ้าของธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

Entrepreneurial mindset ประกอบด้วยหลากหลายกรอบแนวคิดที่หลอมรวมเข้าด้วยกันจนออกมาเป็นทัศนคติที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะมี และจะเห็นได้ชัดมากๆ หากศึกษานักธุรกิจดังๆ ที่ประสบความสำเร็จ

ผมมองว่ามีตัวอย่าง Entrepreneurial mindset  อีกมากที่ผมไม่ได้กล่าวถึง แต่ผมขอยกตัวอย่างที่ผมมองว่าเป็นวิธีคิดที่มีความสำคัญและเป็นส่วนช่วยให้เจ้าของธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งสำหรับคนที่เป็นพนักงานประจำและอยากเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการละก็ ผมเชื่อว่าตัวอย่าง Entrepreneurial mindset ทั้ง 8 อย่างนี้จะช่วยให้เราเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ประกอบการที่สำเร็จได้ครับ

8-entrepreneurial mindset-examples

1. รู้จักตัวเอง (Self-awareness)

ผมว่าเรามักจะได้ยินหรือสังเกตเห็นว่า ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจนั้นค่อนข้างมีความแน่วแน่ในตัวเองสูง บางคนถึงกับยอมลาออกจากการทำงานประจำมาเพื่อทุ่มเวลาทั้งหมดกับการเปิดบริษัทเลยทีเดียว ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่าคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจในตัวเองค่อนข้างสูง 

บางคนรู้ว่าตัวเองเกลียดการเป็นพนักงานประจำ จึงเริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากโลกการทำงานที่ต้องตื่น 6 โมง เลิกงาน 4 ทุ่ม บางคนก็นำสิ่งที่หัวหน้ามองว่าเป็นไอเดียที่ล้มเหลว แต่ตนเองมองเห็นถึงศักยภาพและวิสัยทัศน์จากไอเดียที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ ตัวอย่างทั้งหมดที่ว่ามานี้ เกิดจากการเข้าใจในตัวเองทั้งสิ้น

ซึ่งถ้าคนที่อยากจะเริ่มปั้นธุรกิจไม่มีความเข้าใจในตัวเองละก็ ก็ยากที่จะหาโอกาสในการเริ่มธุรกิจได้ เพราะการจะเริ่มสร้างธุรกิจตั้งแต่ 0 นั้น ต้องใช้แรงกายและแรงใจค่อนข้างเยอะ เพื่อให้ธุรกิจเดินได้ ดังนั้นการมี self awareness จึงเป็นวิธีคิดแรกสุดที่ช่วยให้เราเริ่มต้นสร้างมายเซ็ทผู้ประกอบการได้ (Entrepreneurial mindset)

2. กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆ (Initiative)

เข้าใจตัวเองก็ใช่ว่าจะกล้าลงมือทำ เพราะว่าการออกจาก comfort zone เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับใครหลายๆ คน การที่จะต้องพาตัวเองไปเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย การต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ รอบตัว หรือจินตนาการไปเองว่าความคิดเราคงไม่ได้ดีขนาดนั้น ส่งผลให้หลายๆ คนไม่กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆ 

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนยอมกลับไปอยู่ในสถานการณ์เดิมๆ หรือพฤติกรรมเดิมๆ แม้จะรู้ว่าการพาตัวเองยังสถานการณ์ใหม่ๆ จะช่วยทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นก็ตาม

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ถ้าอยากจะเป็นผู้ประกอบการ เราต้องมีความคิดริเริ่มเป็นของตัวเอง กล้าที่จะออกจาก comfort zone เดิมๆ และริเริ่มสิ่งใหม่ๆ โดยเอาความคิดของเรามาทำเป็นธุรกิจ ซึ่งเราอาจจะเริ่มต้นทีละนิด อย่างเช่น แบ่งเวลา 1 ชั่วโมงในช่วงเสาร์อาทิตย์มาวางแผนธุรกิจใหม่ เป็นต้น

ดังนั้นการมีแนวคิดที่กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆ จึงเป็นตัวอย่างของ Entrepreneurial mindset ที่สำคัญมากๆ และเป็นมายเซ็ทที่ช่วยเปลี่ยนตัวเราให้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจได้

3. ความเป็นเจ้าของ (Ownership) 

เมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นเจ้าของกิจการ นั่นเท่ากับว่าเราเป็น “เจ้าของ” ธุรกิจนั้นจริงๆ ซึ่งนั่นทำให้เรากลายเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็ทอัพระบบ การทำบัญชี การทำการตลาด การวางแผนธุรกิจและคิดกลยุทธ์ ซึ่งแตกต่างจากพนักงานประจำที่บางอย่างเราก็อาจจะปล่อยผ่านได้ เพราะว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของในสิ่งที่เราทำอยู่อย่างแท้จริง

นั่นแปลว่า การเริ่มต้นธุรกิจในช่วงแรกจะต้องลงแรงกายแรงใจอย่างที่เล่าไป และต้องรับผิดชอบกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของตัวเอง ทำดีรายได้ก็มา ทำพลาดรายได้ก็หาย ซึ่งถ้าเราไม่มีความเป็นเจ้าของในสิ่งที่ทำละก็ ธุรกิจก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการมี Ownership จึงเป็นส่วนสำคัญของการมี Entrepreneurial mindset  นั่นเอง

4. มีกรอบแนวคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

ไม่มีใครรู้ทุกอย่างในการเริ่มธุรกิจครั้งแรก ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่อาจจะมีอีกหลากหลายเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ระหว่างบริหารธุรกิจให้เติบโต แต่การที่เราไม่รู้ในสิ่งต่างๆ อาจทำให้เราหมดกำลังใจและรู้สึกว่าเราอาจไม่เหมาะกับการเป็นผู้ประกอบการก็เป็นไปได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ ก็เป็นเจ้าของกิจการได้ถ้ามี Mindset ที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการที่จะช่วยให้เราไม่ตกหลุมพรางความคิดของตัวเองก็คือ การมีกรอบแนวคิดแบบเติบโต หรือ Growth mindset นั่นเอง โดย Growth Mindset นั้นเป็นทัศนคติที่เขื่อว่าคนเรามีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ทุกอย่างหากมีความพยายามและเชื่อมั่นในความสามารถตนเอง 

ซึ่งทัศนคติแบบ Growth Mindset เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้คนเริ่มธุรกิจไม่ยอมแพ้ในการปั้นธุรกิจ และต่อสู้ต่อไปเพื่อให้วิสัยทัศน์ตัวเองเป็นจริงขึ้นมาได้ ดังนั้น Growth Mindset จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ Entrepreneurial mindset ที่หากใครอยากจะเป็นผู้ประกอบการต้องเริ่มพัฒนา Growth Mindset อย่างจริงจังครับ

5. พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

การเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ได้เป็นแค่วันเดียวแล้วจะเลิกเป็นได้ แต่การทำธุรกิจต้องใช้เวลาเรียนรู้นานนับปีเพื่อปั้นธุรกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง ดังนั้นอีกหนึ่ง Entrepreneurial mindset ที่สำคัญก็คือ แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ Lifelong learning นั่นเอง

ผู้ประกอบการที่เป็น Lifelong learner หรือนักเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นมักจะมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผลักดันหาความรู้มาเติมในส่วนที่ขาดหายไป เพื่อนำความรู้ที่หามาได้มาเติมเต็มธุรกิจให้เติบโตเหมือนที่ตนเองวาดฝันไว้ ดังนั้นถ้าวันนึงเราอยากเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเองละก็ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยนะครับ

6. ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Innovation Mindset)

ผมว่าเราน่าจะเห็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะมีนวัตกรรม หรือมีวิธีการที่สร้างสรรค์สุดๆ ในการหารายได้ให้บริษัทใช่ไหมครับ?

Tesla มีนวัตกรรมที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น Airbnb หารายได้ด้วยการเป็นตัวกลางในการให้เจ้าของบ้านเปลี่ยนตนเองเป็นโรงแรมให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าผู้ประกอบการไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง แต่ว่านวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ทำให้ประสบความสำเร็จนี้เกิดขึ้นมาได้ยังไงกันนะ? คำตอบก็คือ Innovative mindset นั่นเอง

Innovation Mindset นั้นเกิดจากการผสมผสานสามสิ่งเข้าด้วยกัน นั่นก็คือการมี Creative Mindset, Growth Mindset และการมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้าและกว้างไกล

หลายๆ ครั้ง ผู้ประกอบการอาจจะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รู้ว่าในอนาคตจะไปในทิศทางไหน แต่ก็อาจจะยังมองเห็นภาพไม่ชัดว่าสิ่งที่ตัวเองวาดฝันนั้นจะสามารถทำออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างไร ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงต้องมีความรู้และมีความคิดสร้างสรรค์ มองสิ่งๆ ต่างในมุมมองที่แตกต่าง กล้าลองผิดลองถูกจากไอเดียที่คิดขึ้นมา ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อทำให้วิสัยทัศน์ของตัวเองเป็นจริง

ดังนั้นการมี Innovation Mindset จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ Entrepreneurial mindset  ที่ดีมากๆ ที่หากพนักงานประจำอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจละก็ต้องหมั่นพัฒนาให้เกิดวิธีคิดแบบนี้ให้ได้นะครับผม

7. ล้มได้ก็ต้องลุกได้ (Resilience)

หลายครั้งสิ่งที่เราคิดก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง การทำธุรกิจจึงมีโอกาสที่จะต้องเจอกับความล้มเหลว แต่เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการต่อได้ ในฐานะของเจ้าของธุรกิจ เราจำเป็นที่จะต้องมี Resilience ที่หมายถึง วิธีคิดในการปลุกใจตัวเองให้สู้ต่อไป ไม่ว่าจะเจอกับอะไรก็ตาม

ในทางธุรกิจนั้น เรามักจะมอง Resilience ว่าเป็นการล้มแล้วลุกให้ไว ทำตัวเองให้ยืดหยุ่น ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายในอุตสาหกรรม แต่ความยืดหยุ่นที่ว่านั้นมักจะเกิดจากวิธีคิดของเจ้าของธุรกิจที่ปลุกพลังความ “ฮึ้บ” ของตัวเอง สูดหายใจลึกๆ แล้วกลับมาทำงานและวางแผนการรับมือต่อสถานการณ์ต่อไป 

ดังนั้นการมี Reslience จึงทำให้เราเดินหน้าได้ต่อ ไม่จมอยู่กับความล้มเหลว และเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ของ Entrepreneurial mindset ที่ผู้ประกอบการยุคปัจจุบันควรพัฒนาให้กับตัวเองนั่นเอง

8. เปลี่ยนใจตัวเองให้กล้าคิดใหม่ ทำใหม่ (Rethinking)

ใครว่าผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จต้องมีความแน่วแน่และเด็ดเดี่ยว? มีการศึกษาพบว่า เจ้าของกิจการที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง Business Model ของตัวเองเพราะมีความแน่วแน่และเด็ดเดี่ยวในสิ่งที่ตัวเองทำ มีการสร้างรายได้ที่ตำกว่าผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองตลอดเวลา ไม่ยึดติดในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่คอยคิดใหม่ทำใหม่ในธุรกิจตัวเองตลอดเวลา

สิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการสองคนนี้แตกต่างกันก็คือ ทักษะในการคิดใหม่ หรือ Rethinking นั่นเอง โดยคนนึงแน่วแน่ในสิ่งที่ทำ แต่อีกคนมีวิธีคิดที่คอยคิดใหม่ ทำใหม่ ปรับปรุงธุรกิจตัวเองอยู่เสมอ

การ Rethink หมายถึง วิธีคิดที่ไม่ได้เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองประสบเจอมาหรือความรู้ที่ตัวเองมีอยู่ถูกที่สุด แต่เป็นวิธีคิดที่มองว่า เราในฐานะผู้ประกอบการจะต้องถ่อมตน เปิดรับในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คิดแบบนักวิทยาศาสตร์ด้วยการทดสอบสมมติฐานว่าสิ่งที่คิดถูกหรือผิด และนำผลลัพธ์เหล่านั้นมาปรับปรุงธุรกิจของตัวเองให้ดีขึ้นเสมอ

วิธีคิดแบบ Rethinking จึงเป็นตัวอย่าง Entrepreneurial mindset ที่สำคัญมากๆ ในการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคดิจิตัลที่สถานการณ์รอบตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วครับ

สรุป Entrepreneurial Mindset

ใครๆ ก็เป็นเจ้าของธุรกิจได้หากมี Entrepreneurial mindset ที่ช่วยผลักดันให้ริเริ่มธุรกิจ ต่อยอดให้เติบโต และประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการ ซึ่งผมได้สรุป 6 ตัวอย่างของ Entrepreneurial mindset ไว้แบบนี้ครับ

  • รู้จักตัวเองให้ดียิ่งกว่าใครๆ
  • กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ไม่ติด comfort zone
  • เจ้าของธุรกิจไม่ใช่ใคร แต่เป็นเราเอง
  • เชื่อมั่นในความสามารถตัวเอง
  • พร้อมเรียนรู้ในทุกช่วงเวลาการปั้นธุรกิจ
  • คิดอย่างแตกต่างแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
  • ปลุกพลังความ “ฮึ้บ” สูดหายใจลึกๆ แล้วกลับมาทำงานต่อในวันที่ล้มเหลว
  • ไม่ยึดติด กล้าคิดใหม่ ทำใหม่ เปลี่ยนธุรกิจเราให้ดีขึ้นอยู่เรื่อยๆ

 

และนี่ก็คือ 6 ตัวอย่างกรอบแนวคิดแบบ  Entrepreneurial mindset ที่ผมหวังว่าจะเป็นส่วนนึงที่ช่วยให้เราเรียกตัวเองได้ว่าเป็น “ผู้ประกอบการ” อย่างแท้จริงครับ

บทความนี้มีเป็นประโยชน์กับคุณหรือไม่?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวตเลย!

Average rating 4.9 / 5. Vote count: 19

Written by